เมนู

13. ภิกษุปรัมปรชาดก



ว่าด้วยการให้ทานในท่านใด มีผลมาก


[2024] ข้าพระพุทธเจ้าได้เห็นพระองค์ผู้ทรง
เป็นสุขุมาลชาติ เคยประทับในพระตำหนักอัน
ประเสริฐ ทรงบรรทมเหนือพระยี่ภู่อันใหญ่โต เสด็จ
จากแว่นแคว้นมาสู่ดง จึงได้ทูลถวายข้าวสุกอย่างดี
แห่งข้าวสาลี เป็นภัตอันวิจิตร มีแกงเนื้ออันสะอาด
ด้วยความรักต่อพระองค์ พระองค์ทรงรับภัตนั้นแล้ว
มิได้เสวยด้วยพระองค์เอง ได้พระราชทานแก่พราหมณ์
ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายบังคมพระองค์ ข้อนี้เป็นธรรม
อะไรของพระองค์.

[2025] พราหมณ์เป็นอาจารย์ของฉัน เป็นผู้
ขวนขวายในกิจน้อยกิจใหญ่ ทั้งเป็นครูและเป็นผู้คอย
ตักเตือน ฉันควรให้โภชนะ.

[2026] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านพราหมณ์ผู้
โคดมอันพระราชาทรงบูชา พระราชาทรงพระราช-
ทานภัต อันมีแกงเนื้ออย่างสะอาดแก่ท่าน ท่านรับ
ภัตนั้นแล้วได้ถวายโภชนะแก่ฤาษี ชะรอยท่านจะรู้ว่า
ตนมิได้เป็นเขตแห่งทาน ข้าพเจ้าขอนอบน้อมแก่ท่าน
ธรรมข้อนี้เป็นธรรมอะไรของท่าน.

[2027] ข้าพเจ้ายังกำหนัดอยู่ในเรือนทั้งหลาย
ต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา ถวายอนุศาสน์แก่พระราชา
เชิญให้เสวยกามอันเป็นของมนุษย์ ข้าพเจ้าควรถวาย
โภชนะแก่ฤาษี ผู้อยู่ในป่าสิ้นกาลนาน ผู้เรืองตบะ
เป็นวุฒิบุคคลอบรมตนแล้ว.

[2028] บัดนี้ ข้าพเจ้าขอถามท่านฤาษีผู้ซูบ
ผอม สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น มีเล็บและขนรักแร้
งอกยาว ฟันเขลอะ มีธุลีบนศีรษะ ท่านอยู่ในป่า
ผู้เดียวไม่ห่วงใยชีวิต ภิกษุที่ท่านถวายโภชนะนั้นดีกว่า
ท่าน ด้วยคุณข้อไหน.

[2029] อาตมภาพยังขุดเผือก มันมือเสือ
มันนก ยังเก็บข้าวฟ่าง และลูกเดือยมาตากตำ เที่ยวหา
ฝักบัว เหง้าบัว น้ำผึ้ง เนื้อสัตว์ พุทราและมะขามป้อม
มาบริโภค ความยึดถือนั้นของอาตมายังมีอยู่ เมื่อ
อาตมายังหุงต้ม ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่หุงต้ม
ยังมีกังวลก็ควรถวายโภชนะแก่ผู้ไม่มีความห่วงใย ยัง
มีความถือมั่น ก็ควรถวายโภชนะแก่ท่านผู้ไม่มีความ
ถือมั่น.

[2030] บัดนี้ กระผมขอถามท่านภิกษุผู้นั่งนิ่ง
มีวัตรอันดี พระฤาษีถวายภัตตาหารอันปรุงด้วยเนื้อ
สะอาดแก่ท่านดังนั้น ท่านรับภัตตาหารนั้นแล้วนั่งนิ่ง
ฉันอยู่องค์เดียว ไม่เชื้อเชิญใคร ๆ อื่น กระผมขอ

นมัสการแด่พระคุณท่าน นี้เป็นธรรมอะไรของพระ-
คุณท่าน.

[2031] อาตมาไม่ได้หุงต้มเอง ไม่ได้ให้ใคร
หุงต้ม ไม่ได้ตัดเอง ไม่ได้ให้ใครตัด ฤาษีรู้ว่าอาตมา
ไม่มีความกังวล เป็นผู้ห่างไกลจากบาปทั้งปวง จึงถือ
ภิกษาหารด้วยมือซ้าย ถือเต้าน้ำด้วยมือขวา ถวาย
ภัตตาหารอันปรุงด้วยเนื้อสะอาดแก่อาตมา บุคคล
เหล่านี้ยังมีความห่วงใย ยังมีความยึดถือ จึงสมควร
จะให้ทาน อาตมาเข้าใจเอาว่า การที่บุคคลเชื้อเชิญ
ผู้ให้นั้นเป็นการผิด.

[2032] วันนี้ พระราชาผู้ประเสริฐเสด็จมา
ณ ที่นี้เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระพุทธเจ้าหนอ ข้าพระ-
พุทธเจ้าเพิ่งทราบชัดวันนี้เองว่า ทานที่ให้ในท่านผู้ใด
จะมีผลมาก พระราชาทั้งหลายทรงกังวลอยู่ใน
แว่นแคว้น พราหมณ์ทั้งหลายกังวลอยู่ในกิจน้อย
กิจใหญ่ ฤาษีกังวลอยู่ในเหง้ามันและผลไม้ ส่วนพวก
ภิกษุหลุดพ้นได้แล้ว.

จบภิกษาปรัมปรชาดกที่ 13
จบปกิณณกนิบาตชาดก

อรรถกถาภิกขาปรัมปรชาดก


พระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงพระปรารภ
กุฎุมพีผู้ใดผู้หนึ่ง ตรัสเรื่องนี้มีคำเริ่มต้นว่า สุขุมาลรูปํ ดังนี้.
เรื่องมีว่า กุฎุมพีนั้นเป็นผู้มีสัทธาเลื่อมใส กระทำมหาสักการะแด่
พระตถาคตเจ้า และแด่พระสงฆ์เนือง ๆ. ครั้นวันหนึ่ง เขาได้คิดว่า เราถวาย
โภชนะอันประณีตและเนื้อละเอียด แด่พระพุทธรัตนะและพระสงฆ์กระทำ
มหาสักการะเนือง ๆ คราวนี้ต้องกระทำมหาสักการะแก่พระธรรมรัตนะบ้าง
เมื่อกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะนั้นต้องทำอย่างไรเล่าหนอ. เขาถือของ
หอมและมาลาเป็นต้นมาก ไปสู่พระวิหารเชตวัน ถวายบังคมพระศาสดา
กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ปรารถนาจะกระทำ
สักการะแก่พระธรรมรัตนะนั้น ควรกระทำอย่างไรเล่า พระเจ้าข้า. ครั้งนั้น
พระศาสดาตรัสกะเขาว่า ถ้าเธอปรารถนาจะกระทำสักการะแก่พระธรรมรัตนะ
ไซร้ จงกระทำสักการะแก่อานนท์ ผู้เป็นคลังพระธรรมเถิด. เขากราบทูลว่า
สาธุ นิมนต์พระเถระในวันรุ่งขึ้น นำไปสู่เรือนของตนด้วยสักการะใหญ่ ให้
ท่านนั่งเหนืออาสนะมีค่ามาก บูชาด้วยของหอมและมาลาเป็นต้น ถวายโภชนะ
มีรสเลิศต่าง ๆ แล้วได้ถวายผ้าราคาแพง พอแก่ไตรจีวร พระเถรเจ้าก็ดำริว่า
สักการะทั้งนี้กุฎุมพีการทำแก่พระธรรมรัตนะ ไม่สมควรแก่เรา สมควรแก่
พระธรรมเสนาบดี จึงนำบิณฑบาตและผ้าไปสู่พระวิหาร ถวายแด่พระสารีบุตร-
เถรเจ้า พระคุณท่านนั้นเล่า ก็ดำริว่า สักการะทั้งนี้เขากระทำแก่พระ-
ธรรมรัตนะ ควรแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเจ้าของแห่งพระธรรม
พระองค์เดียวโดยแท้ จึงถวายแด่พระทศพล พระศาสดาไม่ทรงเห็นผู้ยิ่งกว่า